วิธีในการเจาะสำรวจดินหลักๆ อีก 2 วิธี

สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน

ในวันนี้ผมจะมาอธิบายวิธีในการเจาะสำรวจดินหลักๆ อีก 2 วิธีแก่เพื่อนๆ ต่อจากโพสต์ของเมื่อวานนะครับ

อย่างที่ผมเรียนไปในโพสต์เมื่อวานแล้วว่า เนื่องจากลักษณะและคุณสมบัติของดิน มีความสำคัญต่อการออกแบบฐานรากของโครงสร้าง โดยเฉพาะคุณสมบัติด้านกำลังความแข็งแรงของดิน ในการเจาะเก็บตัวอย่างดินจะต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เพราะดินบางชนิดมีความไวตัว (SENSITIVITY) สูงเมื่อถูกแรงกระทำอาจทำให้โครงสร้างของดินนั้นเปลี่ยนแปลงไป ผลที่ได้จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการก็จะผิดไปจากความเป็นจริง ดังนั้นจึงควรเลือกวิธีการเจาะสำรวจชั้นดินที่เหมาะสมกับงานก่อสร้าง ซึ่งขั้นตอนและขบวนการเจาะสำรวจชั้นดินในแต่ละหลุม อาจใช้วิธีการเจาะสำรวจมากกว่าหนึ่งวิธี โดยวิธีในการเจาะสำรวจดินหลักๆ นั้นสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 วิธีหลักๆ ด้วยกัน 2 วิธีแรกผมได้อธิบายไปในโพสต์ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนที่เหลืออีก 2 วิธีหลักๆ จะประกอบไปด้วย:

(3) วิธีการเจาะสำรวจชั้นดินแบบฉีดล้าง (WASH BORING)
เป็นการเจาะสำรวจโดยการฉีดอัดน้ำผ่านก้านเจาะลงไปที่ก้นหลุมเจาะด้วยปั๊มน้ำแรงสูงและเป่าออกมาที่หัวเจาะ ในขณะที่หัวเจาะ (CHOPPING BIT) กระแทกบดดินให้แตกย่อยออกเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้น้ำสามารถพัดพาเอาดินชิ้นเล็กๆ ขึ้นมาตามผนังหลุมเจาะ ดินชิ้นเล็กๆ เหล่านั้นจะไหลไปลงบ่อตกตะกอนข้างหลุมเจาะเพื่อเป็นการกรองดินเม็ดหยาบ (COARSE GRAIN SOIL) และน้ำจะถูกสูบกลับมาใช้ใหม่ ในการเจาะสำรวจชั้นดินวิธีนี้จำเป็นจะต้องมีการป้องกันผนังหลุมเจาะพังด้วยการตอก CASING ลงไปในชั้นดินเหนียวอ่อนและในกรณีที่เจาะผ่านชั้นทรายก็จำเป็นจะต้องอาศัย BENTONITE ในการช่วยป้องกันการพังทลายของหลุม วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากโดยสามารถเจาะได้ลึกถึง 80 ถึง 100 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเครื่องเจาะสำรวจด้วย

ข้อดีของการเจาะด้วยวิธีนี้ คือ เป็นวิธีการเจาะที่ทำได้ง่าย อุปกรณ์ที่ใช้ไม่สลับซับซ้อน สะดวกต่อการขนย้าย สามารถถอดชิ้นส่วนและประกอบกลับได้ใหม่ในเวลาไม่นานนัก และขณะทำการเจาะสำรวจ จะสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของชั้นดินได้จากความแตกต่างของเศษหิน ทราย และสีของน้ำที่ล้นปากหลุมขึ้นมา พร้อมกับสังเกตความรู้สึกถึงการจับยึดของชั้นดินก้นหลุมด้วยสัมผัสจากการกระทุ้งดินก้นหลุมแต่ละครั้งซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของชั้นดิน ส่วนการสังเกตเศษหิน ทรายและสีของน้ำที่ล้นขึ้นมานั้นช่วยในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของชั้นดินได้อย่างคร่าวๆ เท่านั้น โดยเฉพาะกรณีที่ใช้น้ำโคลนผสม BENTONITE จะทำให้การจำแนกชั้นดินโดยดูจากสีของน้ำทำได้ยากมากยิ่งขึ้น
ส่วนข้อจำกัดของวิธีการนี้ คือ ไม่สามารถใช้วิธีการนี้ในการเจาะผ่านชั้นกรวดใหญ่ ดินลูกรังแข็ง หินผุหรือชั้นดินดานได้

(4) วิธีการเจาะสำรวจชั้นดินแบบเจาะปั่น (ROTARY DRILLING)
การสำรวจโดยวิธีการนี้เป็นการเจาะโดยใช้เครื่องยนต์หมุนหัวเจาะปั่นด้วยความเร็วรอบที่กำหนดที่หัวเจาะปั่นจะมีรูสำหรับฉีดปล่อยน้ำโคลนออกมาโดยสูบจากถังน้ำโคลน และคล้ายคลึงกับการเจาะล้างแต่จะไม่ให้ความรู้สึกซึ่งสัมผัสได้โดยตรงด้วยมือจากก้านเจาะดังเช่นวิธีการเจาะล้าง ทำให้การคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของชั้นดินในระหว่างเจาะต้องสังเกตจากความแตกต่างของแรงกดจากอุปกรณ์ไฮดรอลิกและอัตราการไหลลงของก้านเจาะเป็นหลัก

การเจาะด้วยวิธีนี้ทำโดยใช้แรงดันจากปั๊มน้ำสามารถฉีดไล่ดินในขณะที่หมุนเจาะ และเมื่อพบดินเปลี่ยนชั้นหรือถึงระดับความลึกที่กำหนดหัวเจาะจะถูกนำขึ้นมาจากหลุมและเปลี่ยนเป็นหัวเก็บตัวอย่างแทนเพื่อให้สามารถเก็บตัวอย่างที่คงสภาพเดิมไว้ได้มากที่สุด ในปัจจุบันระบบการเจาะปั่นนี้เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการเจาะที่รบกวนชั้นดินน้อยที่สุดวิธีหนึ่ง การเจาะด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับชั้นดินและหินทุกชนิด โดยเฉพาะในดินแข็ง ลูกรัง ทรายปนกรวดและหินผุ เพราะสามารถถอดเปลี่ยนหัวเจาะให้เหมาะกับสภาพชั้นดินได้ง่ายและสามารถเปลี่ยนเป็นหัวเจาะเพชรได้ทันทีที่ต้องการกรณีที่เจอชั้นหิน (ดูรูปแสดงการเจาะสำรวจชั้นดินแบบเจาะปั่น หรือ ROTARY DRILLING ที่แนบมาในโพสต์ๆ นี้ประกอบคำอธิบายได้นะครับ)

ผมขอย้ำเตือนกับเพื่อนๆ อีกสักครั้งหนึ่งนะครับว่าการเจาะสำรวจชั้นดินนั้นถือได้ว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการที่จะเริ่มต้นทำงานก่อสร้างอาคารหนึ่งๆ ซึ่งนับได้ว่าขั้นตอนๆ นี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะใช้ในการพิจารณาทำการออกแบบงานวิศวกรรมโครงสร้างส่วนฐานรากและเสาเข็ม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความประหยัดในงานก่อสร้างที่เหมาะสม เนื่องจากโครงสร้างของเราจำเป็นที่จะต้องใช้ชั้นดินเป็นตัวรับน้ำหนักของสิ่งปลูกสร้างโดยการสร้างฐานรากลงบนชั้นดิน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ลักษณะและคุณสมบัติของชั้นดินหรือความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของชั้นดินที่จะรองรับสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ

วัตถุประสงค์ของการเจาะสำรวจชั้นดินจึงมิใช่เพียงเพื่อให้การออกแบบฐานรากถูกต้องตามหลักวิชาการเท่านั้นแต่ยังเป็นการช่วยมิให้เกิดความผิดพลาดจากการที่วิศวกรผู้ออกแบบต้องเดาลักษณะและคุณสมบัติของชั้นดินผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งอาจมีผลทำให้สิ่งปลูกสร้างของเราเกิดการวิบัติพังทลายลงไปหรืออาจเกิดความเสียหายก่อนเวลาอันควรได้นั่นเองครับ

หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ

ADMIN JAMES DEAN

BSP-Bhumisiam
ผู้ผลิตรายแรก SPUN MICRO PILE
1) ได้รับมาตรฐาน มอก. มาตราฐาน 397-2524 เสาเข็ม Spun Micro Pile
2) ผู้ผลิต Spun Micro Pile ที่ได้รับ Endorsed Brand รับรองคุณภาพมาตราฐาน จาก SCG
3) ผู้นำระบบ Computer ที่ทันสมัยผลิต เสาเข็ม Spun Micro Pile
4) ลิขสิทธิ์เสาเข็ม Spun Micro Pile
5) เทคโนโลยีการผลิต จากประเทศเยอรมันนี
6) ผู้ผลิต Spun Micro Pile แบบ “สี่เหลี่ยม”
7) การผลิตคอนกรีตและส่วนผสม ใช้ Program SCG-CPAC
เสาเข็ม สปันไมโครไพล์ ช่วยแก้ปัญหาได้เพราะ
1) สามารถทำงานในที่แคบได้
2) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง
3) หน้างานสะอาด ไม่มีดินโคลน
4) สามารถรับน้ำหนักได้ 20-40 ตัน/ต้น
5) สามารถตอกชิดกำแพง ไม่ก่อให้โครงสร้างเดิมเสียหาย
สนใจติดต่อสินค้า เสาเข็ม ไมโครไพล์ (Micropile)
สปันไมโครไพล์ (Spun MicroPile) มาตรฐาน มอก.
ติดต่อ สายด่วน โทร :
081-634-6586
082-790-1447
082-790-1448
082-790-1449
บริษัท ภูมิสยาม ซัพพลาย จำกัด